นันทน อินทนนท์
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เป็นกฎหมายใหม่ในประเทศไทยซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแจ้งให้สำนักงานพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้อาจมีความรับผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ กฎหมายนี้ใช้บังคับกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหลายประเภท เช่น ตลาดสินค้าหรือบริการออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ บริการโฆษณา บริการแบ่งปันวิดีโอและเพลง โปรแกรมค้นหาเว็บไซต์ ซอฟต์แวร์การค้นหาข่าว แผนที่ เบราว์เซอร์เว็บไซต์ ผู้ช่วยเสมือน ระบบปฏิบัติการ บริการโฮสติ้ง บริการคลาวด์ บริการอินเทอร์เน็ตและบริการอื่น ๆ ผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจออนไลน์หรือมีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ตควรตรวจสอบว่าการให้บริการของตนเองเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมานหรือไม่และแจ้งดำเนินการในการแจ้งการประกอบธุรกิจให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบตามเวลาที่กฎหมายกำหนด |
พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ เป็นกฎหมายใหม่ของประเทศไทยที่ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ (ETDA) ก่อนการประกอบธุรกิจ โดยผู้ให้บริการที่ให้บริการมาก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2566 มีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 การไม่ดำเนินการดังกล่าวนี้อาจมีความรับผิดทางกฎหมายและมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจได้ บทความนี้วิเคราะห์ประเภทของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้
ประเภทของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ปัญหาว่าผู้ประกอบการใดมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA บ้าง คงต้องเริ่มต้นจากนิยามความหมายของคำว่า “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ให้หมายความไว้ว่าหมายความถึง “การให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” |
ผู้ที่คุ้นเคยกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสหภาพยุโรปอาจจะเข้าใจว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัล” มีความหมายทำนองเดียวกับ “Online Intermediation Services” ตามกฎหมาย P2B Regulation ของสหภาพยุโรปเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประเภทอื่น เช่น ผู้ให้บริการในการเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต (Mere Conduit Service) ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลชั่วคราว (Caching Service) ผู้ให้บริการเก็บข้อมูล (Hosing Service) และผู้ให้บริการค้นหาแหล่งที่ตั้ง (Search Engine) ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลฉบับนี้เนื่องจากการให้บริการเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริการโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายฉบับนี้ได้มีการออกกฎหมายลำดับรองหลายฉบับ ซึ่งดูเหมือนว่าขอบเขตของความหมายของแพลตฟอร์มดิจิทัลจะถูกตีความค่อนข้างกว้างขวางมาก โดยแม้กระทั่งว่าเว็บไซต์ที่มีการแสดงลิงก์หรือตำแหน่งของข้อมูล เช่น Hyperlink หรือ Banner เพื่อเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นก็มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายนี้แล้ว ดังนั้น ทุกเว็บไซต์ที่มีแบนเนอร์โฆษณา (Ad-based Website) เช่น มีโฆษณาของ Google Adsense ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเช่นกัน นอกจากนี้ ETDA ยังได้มีการแยกแยะประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้อย่างกว้างขวางถึง 16 ประเภทด้วยกัน ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะตกอยู่ในหมายความของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน้าที่ในการแจ้งการประกอบธุรกิจ
1) บริการตลาดออนไลน์ (Online marketplace)
1.1) ตลาดสินค้า (Online marketplace for goods)
1.2) ตลาดบริการ (Online marketplace for services)
2) บริการ Sharing Economy
2.1) บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ (Ride sharing)
2.2) บริการเช่ายานพาหนะ (Car sharing)
2.3) บริการแบ่งปันความรู้/การศึกษา (Knowledge sharing)
2.4) บริการแบ่งปันแรงงาน (Labor sharing)
2.5) บริการแบ่งปันพื้นที่ (Space sharing)
2.6) บริการแบ่งปันด้านการเงิน (Financial sharing)
3) บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online communication)
3.1) บริการการสื่อสารออนไลน์ทั่วไป (General)
3.2) บริการสื่อสารออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Communication commerce (C-Commerce))
4) บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social media)
4.1) บริการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป (General)
4.2) บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่มีฟังก์ชันสนับสนุนการซื้อขาย (Social commerce (S-Commerce))
5) บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising service)
6) บริการสื่อโสตทัศน์และเพลง (Audio-visual and music sharing)
7) บริการสืบค้น (Searching tools)
7.1) บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Online search engines)
7.2) บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลเฉพาะทาง (Specialized search tools)
8) บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News aggregators)
9) บริการแผนที่ออนไลน์ (Maps)
10) บริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web browser)
11) บริการผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual assistants)
12) บริการระบบปฏิบัติการ (Operating system)
13) บริการโฮสต์ (Hosting services)
14) บริการคลาวด์ (Cloud service)
15) บริการอินเทอร์เน็ต (Internet service)
16) บริการอื่น ๆ
จากขอบเขตของประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าวนี้ ผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ตแทบทุกประเภทที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ETDA แทบทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะมีหน้าที่เพียงการแจ้งรายการโดยย่อหรือมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ เช่น จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยรายเดือน รายได้จากการประกอบธุรกิจ และลักษณะของการประกอบธุรกิจว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นต้น
ผู้ประกอบการทุกรายที่ทำมาค้าขายบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือมีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นอยู่บนอินเทอร์เน็ตจึงควรต้องตรวจสอบว่าการให้บริการที่มีอยู่นั้นมีลักษณะตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการแจ้งการประกอบธุรกิจหรือไม่ และมีลักษณะเป็นบริการแพลตฟอร์มประเภทใดใน 16 ประเภทข้างต้น รวมทั้งดำเนินการแจ้งการประกอบธุรกิจให้ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การประกอบธุรกิจเป็นไปโดยราบรื่นและไม่ขัดต่อกฎหมาย