top of page

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU) อย่างไร

รูปภาพนักเขียน: Lexpertise Law FirmLexpertise Law Firm

อัปเดตเมื่อ 20 พ.ย. 2566

นันทน อินทนนท์

​สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้เผยแพร่ (ร่าง) ประกาศ สพธอ. เรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรที่ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลัง (Average Monthly Active Users: AMAU) เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU) สำหรับผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย การคำนวณนี้จะดำเนินการโดยการนับจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกัน (Unique users) ในแต่ละเดือนแล้วนำไปรวมให้เป็นจำนวนผู้ใช้บริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นนำไปหารด้วยจำนวนเดือนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กรณีมีความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะประเภทผู้ใช้บริการต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานทั่วไปออกจากกัน หากดิจิทัลแพลตฟอร์มมีกระบวนการตรวจสอบตัวตนผู้ใช้งาน จะต้องนับจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกันจากการลงชื่อเข้าใช้ของแต่ละบุคคล แต่หากไม่มีก็ต้องใช้ตัวบ่งชี้อื่น ๆ ซึ่งสำนักงาน ETDA จะออกคู่มือเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำหนดว่าผู้ใช้บริการ ได้ใช้บริการจริงหรือไม่ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องดำเนินการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการทุกเดือนและคำนวณจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยต่อเพื่อให้สามารถแจ้งข้อมูลนี้ได้อย่างถูกต้อง

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนำส์ได้ออกประกาศของสำนักงานฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการคำนวณจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยรายเดือน (AMAU) ของการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามพรฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ การคำนวณนี้มีหลักการว่าให้นำจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนในแต่ละเดือนตามที่กำหนดมานับรวมกันแล้วนำไปหารด้วยจำนวนเดือนที่กำหนดไว้ โดยผู้ให้บริการจะต้องแยกแยะระหว่างจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละประเภท เช่น ผ็ประกอบการ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการอื่น โดยในกรณีที่ผู้ให้บริการมีระบบในการยืนยันตัวตน ก็จะต้องนับจำนวนผู้ใช้บริการด้วยวิธีการนั้น แต่หากไม่มีระบบเช่นว่านี้ ก็จะต้องดำเนินการนับจำนวนผู้ใช้บริการด้วยวิธีอื่นที่น่าเชื่อถือ โดยสำนักงานจะมีการออกคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป การนับและคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการนี้จะมีความจำเป็นต่อผู้ให้บริการในการแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานฯ

กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องสำรวจจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (Average Monthly Active Users : AMAU) เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นมีหน้าที่ในการแจ้งการประกอบธุรกิจอย่างไร และเพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้บริการไปแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ทั้งก่อนการประกอบธุรกิจและการแจ้งข้อมูลรายปี แต่ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนนั้นต้องทำอย่างไร

หลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ออกประกาศ สพธอ.เรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรที่ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลัง ฯ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการตามกฎหมาย โดยประกาศฉบับนี้จะนำไปใช้ทั้งกับผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจ (ผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง) และผู้ให้บริการที่มีหน้าที่แจ้งรายการโดยย่อ (ผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 8 วรรคสี่) ด้วย

โดยปกติแล้ว ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นมักจะมีการตรวจสอบการเข้าใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อสำรวจของนิยมของบริการนั้นและการปรับปรุงบริการต่อไป การตรวจสอบนี้อาจมีทั้งเป็นการสำรวจ จำนวนครั้งที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ทั้งหมด (Pageview) หรือสำรวจการเยี่ยมเยือนเว็บไซต์ (Session) หรือสำรวจจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ โดยคำนวณจากจำนวน IP Address ของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ไม่ซ้ำกัน (Unique IP) เป็นต้น แต่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยรายเดือนได้ทันที เพราะประกาศ สพธอ.ฯ นั้นได้มีการระบุวิธีการคำนวณไว้โดยเฉพาะแล้ว

ตามหลักเกณฑ์ของประกาศ สพธอ. ฉบับนี้ ผู้ให้บริการจะต้องมีการหาจำนวนผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรที่ใช้งานต่อเดือน (Monthly Active Users : MAU) โดยจะต้องมีการนับจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกัน (Unique User) ซึ่งเข้าใช้บริการ (Active) ในแต่ละรอบเดือนก่อน หลังจากนั้นจะต้องมีการนำจำนวนผู้ใช้บริการต่อเดือนตามจำนวนเดือนที่กำหนดมารวมกัน แล้วนำไปหารด้วยจำนวนเดือนที่กำหนด จึงจะได้มาซึ่งจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU)

สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก็คือ ผู้ใช้บริการที่อยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นมีหลายประเภท เช่น ผู้ประกอบการ (Business users) ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ หรือผู้ทำงานบนแพลตฟอร์มนั้น เช่น ผู้ขนส่ง รวมถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย (End users) ดังนั้น จึงจะต้องมีการแยกแยะประเภทของผู้ใช้บริการเหล่านี้ให้ชัดเจน และจะต้องไม่นำจำนวนผู้ใช้บริการแต่ละประเภทไปปะปนกัน

การคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน (AMAU) ต้องเริ่มจากการหาจำนวนของผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรที่ใช้งานต่อเดือน (MAU) โดยจำนวนผู้ใช้บริการนี้จะต้องเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกัน (Unique User) และต้องเป็นผู้ใช้บริการที่เข้าใช้บริการจริง (Active user) ด้วย ซึ่งประกาศ สพธอ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์นี้ไว้โดยละเอียด

หลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกันนั้นมีหลักการว่า หากแพลตฟอร์มดิจิทัลมีกระบวนการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ เช่น signed-in หรือ logged-in ให้นับจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำกันจากการลงชื่อเข้าใช้บริการแต่ละราย แต่หากแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นไม่มีกระบวนการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการ ก็ต้องใช้ตัวบ่งชี้อื่น เช่น หมายเลขไอพีแอดเดรส (IP address) คุ๊กกี้ (Cookies identifier) การระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Identification tags) หรือการระบุหมายเลขเฉพาะประจำอุปกรณ์ (Device Identification)

ส่วนการนับจำนวนผู้ใช้บริการที่เข้าใช้บริการ (Active) ในรอบเดือนนั้น จะต้องพิจารณาว่าผู้ใช้บริการมีการเข้ามาใช้บริการจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน ETDA จะกำหนดแนวทางต่อไป แต่โดยทั่วไปแล้ว ก็จะต้องพิจารณาจากกิจกรรม โดยในกรณีของผู้ประกอบการจะพิจารณาจากกิจกรรม เช่น การเสนอขายสินค้าบนแพลตฟอร์มในช่วงระยะเวลานั้ การติดต่อสื่อสารกับผู้สั่งซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น และในส่วนของผู้บริโภค ก็จะเป็นกิจกรรม เช่น การกดเข้าสู่ระบบ การค้นหารายการสินค้า การกดเลือกสินค้าหรือร้านค้า เป็นต้น หากผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคมีกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะถือว่าเป็นผู้ใช้บริการที่มีการใช้งานจริง

การคำนวณหาจำนวนผู้ใช้บริการนั้น ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ต้องคำนวณเฉลี่ยเป็นรายเดือน ดังนั้น เมื่อนับจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ซ้ำรายซึ่งได้ใช้งานจริงในแต่ละเดือนแล้ว ก็จะต้องนำมาคำนวณหาจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยในการแจ้งการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลครั้งแรกที่จะต้องแจ้งภายในวันที่ 17 พฤศจิการยน 2566 นั้น ประกาศฉบับนี้ให้เริ่มคำนวณตั้งแต่เดือนแรกที่ให้บริการในปี 2566 จนถึงเดือนที่ได้แจ้งให้สำนักงานทราบก่อนการประกอบธุรกิจ แต่ในกรณีที่มีการให้บริการไม่ครบหนึ่งเดือนเต็ม ก็ไม่จำเป็นต้องนำเดือนนั้นมารวมคำนวณด้วย ดังนั้น จึงไม่ต้องนำเดือนสุดท้ายของการประกอบธุรกิจมารวมคำนวณด้วย

ตัวอย่างการคำนวณจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือน

เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้น โปรดพิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้ บริษัท A ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟรอ์มดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2565 และตัดสินใจแจ้งการประกอบธุรกิจในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแจ้งการประกอบธุรกิจตามที่กำฆมายกำหนด ดังนี้ บริษัท A จะต้องรวบรวมจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละเดือน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงเดือนตุลาคม 2566 รวม 10 เดือน แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อหาจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน

สมมติว่าบริษัท A มีจำนวนผู้ใช้งานจริงรายเดือนที่ไม่ซ้ำงานกัน ดังนี้

ดังนั้น เมื่อบริษัท A จึงมีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 5,250 คน บริษัท A จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566

หลักเกณฑ์ที่กล่าวมานี้เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องนำไปใช้ในการคำนวณจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่จะต้องนำไปใช้เพื่อคำนวณว่าการบริการของตนเองนั้นเป็นบริการแพลตฟอร์มประเภทใด นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยนต่อเดือนยังเป็ฯข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องรายงานต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งก่อนและระหว่างการประกอบธุรกิจด้วย

ดู 209 ครั้ง
bottom of page