top of page

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปคือใครและมีหน้าที่ตามกฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง

รูปภาพนักเขียน: Lexpertise Law FirmLexpertise Law Firm

อัปเดตเมื่อ 20 พ.ย. 2566

นันทน อินทนนท์

​กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ควบคุมกำกับการให้บริการของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปอย่างเข้มงวด ภายใต้กฎหมายนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามขนาดและประเภทบริการ และมีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่แตกต่างกันไป ซึ่งรวมถึงการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ การแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร การยื่นรายงานประจำปี การแจ้งให้สำนักงานฯ และผู้ใช้บริการให้ทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงและเงื่อนไขในการให้บริการ การจัดให้มีมาตรการเพื่อลดและการชดเชยความเสียหาย และการจัดตั้งระบบการรับเรื่องร้องเรียน การปฏิบัติตามกฎหมายนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามจะก่อให้เกิดความรับผิดทางกฎหมายแก่ผู้ให้บริการนั้นได้


ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องการเข้ามาควบคุมกำกับการประกอบธุรกิจมากที่สุด ผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามจำนวนมาก บทความนี้อธิบายว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปคือใคร มีกี่ประเภท และมีหน้าที่อะไรบ้าง เช่นเดียวกับคำว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ” คำว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป” ไม่ได้มีในกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่คำดังกล่าวนี้เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลำดับรอง เช่น ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แบบการแจ้งก่อนการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ และประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แบบการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายปีฯ จึงนำมาสู่ปัญหาว่า ผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป” คือใครและมีหน้าที่อย่างไรบ้าง

 

ประเภทของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว “แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป” ก็คือ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ใช่ “แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ” และไม่ใช่ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นของหน่วยงานของรัฐซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรง ดังนั้น ผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป” จึงหมายความถึงผู้ให้บริการดังต่อไปนี้

  1. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน และมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการให้บริการในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่มีการคิดค่าบริการกับผู้ใช้บริการ หรืออาจเรียกว่า “ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่มีการคิดค่าบริการ”

  2. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน และมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการให้บริการในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล หรือเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีการคิดค่าบริการกับผู้ใช้บริการ หรืออาจเรียกว่า “ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการคิดค่าบริการ”

  3. ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีบริการสืบค้นข้อมูล หรือที่เรียกว่า Search Engine ผู้ให้บริการประเภทนี้ไม่ได้ถูกให้คำจำกัดความไว้ในพระราชกฎษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ แต่มีการอ้างอิงถึงในมาตรา 16 (2) เท่านั้น แต่ต่อมาประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง รายละเอียดการประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ผู้ใช้บริการทราบฯ ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายความถึง “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้ผู้ใช้บริการค้นหาเว็บไซต์ไม่ว่าในภาษาหนึ่งภาษาใดด้วยการใส่ข้อมูลในรูปแบบของคำสำคัญ (keyword) คำสั่งเสียง วลี หรือข้อมูลอื่น และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าวแสดงผลการค้นหารายการเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นได้ไม่ว่าในรูปแบบใด” ดังนั้น บริการสืบค้นข้อมูลในที่นี้จึงหมายถึงการสืบค้นข้อมูลที่มีอยู่บนเว็บไซต์ทั่วโลก ไม่ใช่ระบบสืบค้านข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งเท่านั้น

  4. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ ผู้ให้บริการที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทบริการเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศไทยเฉลี่ยรายเดือนเกินจำนวนร้อยละสิบของจำนวนราษฎรทั่วประเทศ หรือประมาณ 6.6 ล้านคน

  5. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ โดยผู้ให้บริการประเภทนี้จะเป็นผู้ให้บริการที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรืออาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น

 

หน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายหลักที่กฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องการเข้ามาควบคุมให้การประกอบธุรกิจเกิดความเป็นธรรมและมีความโปร่งใส ผู้ให้บริการเหล่านี้จะมีหน้าที่มากน้อยตามลำดับลดหลั่นกันไป โดยผู้ให้บริการที่ไม่มีการเก็บค่าบริการจะมีการควบคุมกำกับน้อยที่สุด ในขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะมีหน้าที่มากที่สุด แต่กล่าวโดยรวมแล้ว ผู้ให้บริการจะมีหน้าที่ เช่น

  1. หน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ

  2. หน้าที่ในการแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร

  3. หน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจรายปี

  4. หน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในการประกอบธุรกิจภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล

  5. หน้าที่แจ้งให้สำนักงานทราบเมื่อมีการแก้ไขข้อตกลงและเงื่อนไขในการให้บริการ

  6. หน้าที่แจ้งการเลิกประกอบธุรกิจให้สำนักงานทราบล่วงหน้า

  7. หน้าที่ประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการทราบ ก่อนหรือขณะเข้าใช้บริการ

  8. หน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเมื่อมีการแก้ไขข้อตกลงและเงื่อนไขในให้บริการ

  9. หน้าที่จัดให้มีมาตรการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยา ซึ่งรวมถึงหน้าที่ในการจัดให้มีกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน (เฉพาะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และที่มีลักษณะเฉพาะ)

  10. หน้าที่จัดให้มีมาตรการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยาไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (เฉพาะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่และที่มีลักษณะเฉพาะ)

โดยสรุปแล้ว ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั่วไปมีหน้าที่ทั้งก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ ระหว่างการประกอบธุรกิจ และเมื่อจะเลิกการประกอบธุรกิจ ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการจะมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งข้อมูลและรายงานต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ผู้ให้บริการยังมีหน้าที่ต่อผู้ใช้บริการอีกมาก เช่น หน้าที่ในการประกาศข้อตกลงและเงื่อนไข และต้องมีข้อตกลงและเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดด้วย หากข้อตกลงเหล่านี้ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากข้อตกลงดังกล่าวอาจจะไม่มีผลในทางกฎหมายแล้ว อาจถือว่าผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอีกด้วย

 
 
bottom of page