top of page
รูปภาพนักเขียนLexpertise Law Firm

เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) คืออะไร เงื่อนไขเป็นอย่างไร

มนัสวี วงษ์สุรีย์รัตน์, ชลิตา ดอกบัว


นับตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (กฎหมาย DPS) ได้เริ่มบังคับใช้ ได้มีผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวนมากได้ทำการแจ้งการประกอบธุรกิจกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งผู้ประกอบการธุรกิจที่ทำการแจ้งการประกอบธุรกิจด้วยตัวเองและแจ้งผ่านตัวแทนหรือสำนักงานกฎหมาย ประชาชนทั่วไปสามารถไปตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของ ETDA


นอกจากนี้ ETDA ยังจัดให้มีการใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้แจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วมีสิทธิในการใช้โดยนำเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ “ETDA DPS NOTIFIED” ไปแสดงบนแพลตฟอร์มและสื่อโฆษณาของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะการให้บริการ เช่น ชื่อบริการ ลักษณะบริการ สถานการณ์ให้บริการ และ ช่องทางติดต่อ ของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้โดยง่าย ลักษณะคล้ายกับเครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) นี้จะเป็นไปตาม “ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ ธพด. 2/2567 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายรับแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล”


เพื่อเพื่อความสะดวกและเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ สำนักงานกฎหมายเล็กซ์เพอร์ติสจึงได้สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้


ใครมีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED)


ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับแจ้งต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยดังต่อไปนี้


1.       เป็นผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

a.        มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือ

b.       มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด)


(หรือก็คือ แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง กฎหมาย DPS)


2.       ได้รับใบรับแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมาย DPS แล้ว


3.       ไม่อยู่ในระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่มีคําสั่งให้หยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ คําสั่งห้ามการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือคําสั่งถอนการรับแจ้งนั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งตามกฎหมาย DPS


ลักษณะเครื่องหมายรับแจ้งเป็นอย่างไร



ลักษณะเครื่องหมายรับแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นดังนี้




โดยรูปแบบตัวอักษร (Font) ใช้แบบอักษร Kanit


หากมีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล จะต้องในรูปแบบอย่างไร


หากจะใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) ข้างต้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องใช้ตามแนวทางดังนี้


1.        สี

โดยสีที่ใช้ในเครื่องหมายจะมีรหัสสี (Color Code) ดังนี้ 


·        สีเขียว C 90 M 80 Y 0 K 0 / #374EA2

·        สีน้ำเงิน C 50 M 0 Y 100 K 0 / #8DC63F

·        สีเทา C 60 M 50 Y 50 K 30 / #5B5E5E


กรณีที่จะไม่ใช้สีตามที่กําหนด อาจใช้สีอื่นที่เป็นสีเดียว (Single Color) ได้ แต่จะต้องใช้สีที่สามารถเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสีพื้นด้านหลัง


2.       ขนาด


ขนาดเล็กที่สุดของการแสดงเครื่องหมายรับแจ้ง ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 3 x 6.5 เซนติเมตร (กว้าง x ยาว) สําหรับงานสิ่งพิมพ์และขนาด 606 x 234 พิกเซล สําหรับงานสื่อออนไลน์ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและอ่านได้ด้วยตาเปล่า


ช่องทางในการแสดงเครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลมีอะไรบ้าง


1. ผู้มีสิทธิ์ใช้สามารถแสดงเครื่องหมายรับแจ้งบนเว็บไซต์ (Website) หรือ แอปพลิเคชัน (Application) ที่เป็นช่องทางการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัล


2. ผู้มีสิทธิ์ใช้สามารถแสดงเครื่องหมายรับแจ้งบนสื่อที่เผยแพร่หรือโฆษณาบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้แจ้งไว้


3. ถ้าผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้ง ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหลายประเภท สามารถนำ

เครื่องหมายรับแจ้งไปแสดงบนหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เป็น “ช่องทางการให้บริการหลัก” ของแพลตฟอร์มดิจิทัล


เงื่อนไขในการแสดงเครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลมีอะไรบ้าง


1. ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งต้องรายงานการใช้เครื่องหมายรับแจ้งตามที่ ETDA กำหนด


2. ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งต้องไม่โอนสิทธิการใช้เครื่องหมายรับแจ้งให้แก่บุคคลอื่น


3. ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งต้องไม่ใช้เครื่องหมายรับแจ้งในระหว่างที่ ETDA มีคําสั่งให้หยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ คําสั่งห้ามการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล


4. ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ ETDA กำหนด


ในกรณีผู้ใช้เครื่องหมายรับแจ้งไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ETDA ประกาศกําหนด ETDA มีอํานาจสั่งพักใช้เครื่องหมายรับแจ้งได้


ถ้าต้องการใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) ต้องทำอย่างไร


ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายรับแจ้งสามารถเข้าไปแจ้งความประสงค์ใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) ผ่านระบบของ ETDA ได้ที่ https://eservice.etda.or.th/dps


โดยทาง ETDA จะเริ่มเปิดระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป


สำนักงานฯ เห็นว่าการติดเครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมาย DPS จึงขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางของแต่ละแพลตฟอร์มว่าจะแจ้งความประสงค์ขอใช้เครื่องหมายรับแจ้งแพลตฟอร์มดิจิทัล (ETDA DPS NOTIFIED) และแสดงเครื่องหมายรับแจ้งดังกล่าวบนแพลตฟอร์มหรือไม่ อย่างไรก็ดี การติดเครื่องหมายรับแจ้งดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการใช้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัล


สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่แจ้งข้อมูลแบบย่อ และไม่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว แต่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่าตนเป็นแพลตฟอร์มที่มีแนวปฏิบัติการให้บริการสอดคล้องกับกฎหมาย DPS สามารถนำใบรับแจ้งที่ได้จาก ETDA ไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการตามความจำเป็นได้เช่นเดียวกัน


อ้างอิงจาก ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 2/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายรับแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

ดู 28 ครั้ง
bottom of page