พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศไทยให้ความหมายของแพลตฟอร์มดิจิทัลว่าเป็นสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดธุรกิรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการในลักษณะนี้ไม่ได้จำกัดแต่เพียงการให้บริการตลาดสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ดังเช่น Amazon หรือ eBay เท่านั้น แต่เว็บไซต์หรือแปพลิเคชั่นที่มีการเชื่อมต่อให้ผู้ประกอบการกับผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ เช่น นายหน้าประกันภัยหรือนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ด้วย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดเล็กมีหน้าที่ต้องแจ้งรายการในการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรนิกส์ (ETDA) ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ส่วนผู้ให้บริการทั่วไปมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจภายใน 90 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ ดังนั้น ผู้ให้บริการเว็บไซต์หรือแปพลิเคชั่นจะต้องตรวจสอบว่าการให้บริการของตนเองนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายหรือไม่ รวมถึงจะต้องเตรียมการในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายด้วย
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน “แพลตฟอร์ม” เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าส่วนใหญ่มีการนำสินค้าหรือเสนอการให้บริการของตัวเองบนแพลตฟอร์มเพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายก็พยายามสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นเพื่อเป็นช่องทางผู้ผู้ประกอบการอื่นนำสินค้าและบริการมานำเสนอในแพลตฟอร์มของตนเอง แพลตฟอร์มจึงเป็นเหมือนตลาดที่มีการนำสินค้าและบริการมานำเสนอขายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเมื่อตลาดนี้อยู่บนอินเทอร์เน็ต เราจึงเรียกว่า “แพลตฟอร์มออนไลน์” หรือ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” นั่นเอง บทความนี้อธิบายว่าแพลตฟอร์มประเภทใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลบ้าง
ความหมายของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
ตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายความถึง “การให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ดังนั้น “แพลตฟอร์มดิจิทัล” จะอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคได้เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตก็จะสามารถเข้าไปในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นเพื่อเลือกซื้อสินค้าหรือบริการได้ เว็บไซต์หหรือแอปพลิเคชั่นที่เป็นตลาดค้าขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-marketplace ในระดับโลกอย่าง Amazon, Alibaba หรือ eBay จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” |
ประเภทของแพลตฟอร์มดิจิทัล
ตามนิยามศัพท์ข้างต้น “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ไม่ได้จำกัดแต่เพียงการให้บริการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (E-marketplace) ขนาดใหญ่เท่านั้น การให้บริการทุกประเภทที่มีลักษณะเป็นการเชื่อมต่อให้ผู้ประกอบการกับผู้บริโภคมาพบกันเพื่อให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการล้วนแต่ถือเป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายทั้งสิ้น ด้วยขอบเขตที่กว้างขวางเช่นนี้ เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือบริการของตนเองเท่านั้น แต่มีการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาขายสินค้าหรือบริการ ก็จะเป็น
“แพลตฟอร์มดิจิทัล” ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์นายหน้าประกันภัยที่เชื่อมต่อบริษัทประกันภัยกับลูกค้า เว็บไซต์นายหน้าค้าขายที่ดินที่เชื่อมโยงผู้ขายที่ดินกับผู้มีความประสงค์ที่จะค้าที่ดินเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มบริการต่าง ๆ เช่น หาตั๋วเครื่องบิน ที่พักโรงแรม หาหมอออนไลน์ หาช่าง หาหมอนวด หาอินฟลูเอนเซอร์ หาติวเตอร์ หาผู้ขนส่งสินค้า อ่านหนังสืออีบุ๊ค ดูดวงออนไลน์ รีวิวร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยว เช่ารถยนต์ ก็ล้วนแต่เป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัล” เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีกระดานสนทนา (Webboard) ที่ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคสามารถเข้ามาสนทนากันโดยตรง หรือเว็บไซต์ที่มี hyperlink หรือ banner โฆษณาต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของผู้ประกอบการอื่น ก็อยู่ในความหมายของ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ด้วย
หน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
“แพลตฟอร์มดิจิทัล” เหล่านี้ ถ้ามีการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบฯ ที่จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ทราบก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้แยกผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ผู้ให้บริการขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำ กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ให้บริการขนาดเล็กหรือที่มีผลกระทบต่ำจะมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 20 สิงหาคาม 2567 ส่วนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปจะมีหน้าที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจภายใน 90 วันนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ดังนั้น ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ควรตรวจสอบว่าการให้บริการของตนเองนั้นเข้าลักษณะ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” หรือไม่ และเตรียมตัวในการแจ้งการประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามหน้าที่ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย