"กฎหมายใหม่สำหรับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย:
พระราชกฤษฎีกาการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ
30 เม.ย. 2566
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลไทยได้ออกพระราชกฤษฎีกาการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าฯ เพื่อควบคุมกำกับการดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ในประเทศไทย พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 240 วันหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้โดยการแจ้งการประกอบธุรกิจให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทราบก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจและต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างการประกอบธุรกิจ หากฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจะก่อให้เกิดความรับผิดทางกฎหมายทั้งทางอาญาและทางปกครอง
พรฎ. แพลตฟอร์มดิจิทัลได้ถูกตราขึ้นเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสำหรับการประกอบธุรกิจการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยโดยเฉพาะ กฎหมายนี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมกำกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกับผู้ใช้บริการ ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายหลายประการ อาทิเช่น หน้าที่ในการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขที่ตนเองทำกับผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นการไม่เลือกปฏิบัติ
บทคัดย่อ
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยต้องประกาศล่วงหน้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 240 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกามีเป้าหมายเพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมสำหรับอุตสาหกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย ส่งเสริมความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ ขอบเขตของกฎระเบียบนั้นกว้างครอบคลุมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แม้จะมีสถานประกอบการธุรกิจอยู่นอกประเทศไทย แต่ยังคงให้บริการแก่คนไทย บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หมายถึง ตัวกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่จัดการข้อมูลและเชื่อมต่อผู้ค้า ผู้บริโภค หรือผู้รับบริการผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดการแจ้งเตือนคือผู้ที่มีรายได้ต่อปีเกิน 50 ล้านบาท หรือมีจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 5,000 คน ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลอาจส่งผลให้เกิดโทษทั้งทางอาญาและทางปกครอง
บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลคืออะไร?
"บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล" ในกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลฉบับนี้หมายความถึงบริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลและเชื่อมต่อผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการอื่นเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่คนึงว่าจะมีการคิดค่าบริการหรือไม่ จากคำนิยามนี้ บริการตลาดซื้อขายออนไลน์เช่น Shopee และ Lazada รวมถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่มีการนำผู้ประกอบการมาเสนอขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริการ จะถูกพิจารณาว่าเป็น "บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล" ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าบริการที่มีการขายสินค้าหรือบริการของผู้ให้บริการเพียงรายเดียวหรือของบริษัทในเครือของผู้ให้บริการนั้นหรือที่เรียกว่า brand.com จะไม่ถือเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้
การขยายการบังคับใช้กฎหมายไปนอกราชอาณาจักร
พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีขอบเขตกว้างโดยครอบคลุมถึงการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจนอกราชอาณาจักร แต่มีการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ผู้ให้บริการในต่างประเทศเช่นนี้จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดว่า พฤติการณ์ดังต่อไปนี้ถือเป็นการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย เช่น เมื่อมีการแสดงข้อมูลเป็นภาษาไทย มีชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยหรือหมายความถึงประเทศไทย มีการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการเป็นสกลุลเงินบาท มีการใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับ หรือมีการกำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทย มีการจ่ายค่าบริการแก่ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการในประเทศไทยเข้าถึงบริการนั้น หรือเมื่อมีการดำเนินธุรกิจโดยมีสำนักงานหรือบุคลากรสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ใช้บริการในประเทศไทย
แพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมาย
ผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งการประกอบธุรกิจ ต้องเป็นผู้ที่มีรายได้รายปีเกิน 50 ล้านบาท หรือมีจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 5,000 คน (กรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล) กฎหมายนี้ได้แยกแยะประเภทของการบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลออกเป็นหลายประเภท เช่น ผู้ให้บริการที่ไม่เรียกเก็บค่าบริการ ผู้ให้บริการที่เรียกเก็บค่าบริการ ผู้ให้บริการขนาดใหญ่ และผู้ให้บริการที่ดำเนินการอย่างมีผลต่อเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ โดยผู้ให้บริการแต่ละประเภทจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป
หน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
หน้าที่ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเริ่มต้นด้วยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น ชื่อผู้ให้บริการ ชื่อบริการ จำนวนผู้ใช้บริการ หรือรายได้จากกการให้บริการให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ( ETDA) รวมทั้งในระหว่างการประกอบธุรกิจก็จะต้องมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และจะต้องมีการรายงานการดำเนินการต่าง ๆ ให้สำนักงานฯ ทราบด้วย โดยกฎหมายนี้ได้เข้ามาควบคุมกำกับข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีกับผู้ประกอบการและผู้บริการให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับผู้ให้บริการดิจิทัลพลาตฟอร์มขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายได้เกิน 300 ล้านบาทต่อปี จะมีความรับผิดชอบตามกฎหมายเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีมาตรการในการประเมินความเสี่ยง การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและผู้ตรวจสอบอิสระ และการส่งรายงานความเสี่ยงประจำปี นอกจากนี้ยังต้องอนุญาตให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้วย
ความรับผิดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลก่อให้เกิดความรับผิดทั้งทางอาญาและปกครอง โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่แจ้งการประกอบธุรกิจก่อนการประกอบธุรกิจมีโทษจำคุก 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ก็อาจจะถูกปรับในทางปกครองเป็นเงินถึง 1 ล้านบาทและอาจถูกสั่งให้หยุดการประกอบธุรกิจได้ด้วย ไม่เพียงท่านั้น สำนักงาน ETDA ยังมีอำนาจเปิดเผยรายชื่อของผู้ให้บริการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายออกสู่สาธารณะ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของผู้ให้บริการรายนั้นในตลาดได้
โดยสรุป การออกกฎหมายแพลตฟอร์มดิจิทัลถือเป็นพัฒนาการทางกฎหมายที่สำคัญในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ผู้ให้บริการประเภทนิติบุคคลที่มีรายได้ต่อปีเกิน 50 ล้านบาทหรือจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยต่อเดือนเกิน 5,000 คนจะต้องแจ้งการประกอบูรกิจต่อสำนักงานพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ก่อนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ให้บริการอาจมีความรับผิดทางอาญาและทางปกครองได้